Abstract:
|
การศึกษาเรื่องภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาในทัศนะของนักศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาในทัศนะของนักศึกษา และศึกษาการเปิดรับข่าวสารของนักศึกษาที่มีต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา รวมถึงศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเปิดรับข่าวสารและภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา การศึกษาครั้งนี้ใช้วิธีวิจัยเชิงปริมาณ โดยใช้แบบสอบถามในการเก็บรวมรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 360 คน ซึ่งกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้โปรแกรม G*Power Software เพื่อคำนวณหาขนาดกลุ่มตัวอย่าง (Erdfelder, Faul, & Buchner, 1996) โดยใช้สถิติ t-test การวิเคราะห์ความแปรปรวน (ANOVA) และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียรสัน (Pearson’s Product Moment Correlation Coefficient) ในการวิเคราะห์ข้อมูล
ผลการศึกษาพบว่า
ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาในทัศนะของนักศึกษาอยู่ในระดับค่อนข้างจริงในทุกๆด้าน โดยภาพลักษณ์ด้านองค์กรมีค่าเฉลี่ยมากที่สุดในประเด็นด้านการเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏอันดับ 1ของประเทศ รองลงมาคือ ภาพลักษณ์ด้านการจัดการด้านอุปกรณ์ อาคารและสถานที่ ในประเด็นเรื่องการมีอาคารสถานที่ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมไทย อันดับสาม คือ ภาพลักษณ์ด้านหลักสูตรการเรียนการสอนและนักศึกษา ในประเด็นเรื่องการมีนักศึกษาและบัณฑิตที่ดีและมีคุณภาพ อันดับสี่ คือ ภาพลักษณ์ด้านผู้บริหาร ในประเด็นด้านการมีผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถ อันดับห้า คือ ภาพลักษณ์ด้านคณาจารย์และบุคลากร ในประเด็นเรื่องการมีอาจารย์ที่มีคุณภาพและความสามารถในการสอน และอันดับสุดท้ายได้แก่ ภาพลักษณ์ด้านความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในประเด็นเรื่องการเป็นองค์กรที่ให้
ความสำคัญกับการส่งเสริมด้านการศึกษาและความรู้ให้แก่เยาวชน โดยกลุ่มตัวอย่างมีการเปิดรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาส่วนใหญ่อยู่ในระดับบ่อยถึงปานกลาง โดยเปิดรับข้อมูลจากสื่อบุคคลมากที่สุด ซึ่งได้แก่ เพื่อนๆนักศึกษา รองลงมาคือสื่ออื่น ๆ ซึ่งได้แก่ เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย โดยมีรายละเอียดของผลการวิจัยดังนี้
(1) นักศึกษาที่มีลักษณะทางประชากรด้านเพศ และคณะที่แตกต่างกันนั้นมีการเปิดรับข่าวสารของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 ในขณะที่ไม่พบความแตกต่างของกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุและชั้นปีที่แตกต่างกัน
(2) นักศึกษาที่มีลักษณะทางประชากรด้านเพศและคณะแตกต่างกันนั้นมีภาพลักษณ์ต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 ในขณะที่ไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ และชั้นปีที่แตกต่างกัน
(3) การเปิดรับข่าวสารมีความสัมพันธ์เชิงบวกในระดับปานกลางกับภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.01 ( r = 0.603; p< 0.01 )
โดยจากผลการวิจัยพบข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ ดังนี้ การเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับมรภ.สวนสุนันทา พบว่าอยู่ในระดับบ่อยถึงปานกลาง ดังนั้นจึงควรมีการประชาสัมพันธ์ข่าวสารในสื่อต่าง ๆ ให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยสื่อที่น่าสนใจสำหรับนักศึกษา ได้แก่ สื่อบุคคล เว็บไซด์ของมรภ.สวนสุนันทา และสื่ออินเตอร์เน็ต และจากผลการศึกษาภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยซึ่งพบว่า อยู่ในระดับค่อนข้างจริงโดยมีค่าเฉลี่ยเท่า ๆ กันในทุกด้าน ดังนั้นจึงควรทำการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์อย่างต่อเนื่อง โดยอาจส่งเสริมภาพลักษณ์ในด้านใดด้านหนึ่งที่ชัดเจนขึ้นเพื่อทำให้ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมีความโดดเด่น โดยเฉพาะภาพลักษณ์ในประเด็นเรื่องการเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏอันดับ 1 และการเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นความเป็นวัง และส่งเสริมอนุรักษ์ความเป็นไทย และภาพลักษณ์ในประเด็นเรื่องการมีอาคารสถานที่ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับค่าเฉลี่ยค่อนข้างสูง โดยสามารถนำไปเป็นข้อมูลในการพัฒนาและสร้างจุดแข็งในการสร้างภาพลักษณ์ของมหาวิทยาราชภัฏสวนสุนันทาได้ต่อไป |