Abstract:
|
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาผลกระทบจากการนำผลิตภัณฑ์รักษาความสะอาดที่เป็นมิตรต่อ
สิ่งแวดล้อม มาใช้บริเวณลานกางเต็นท์ลำตะคองและผากล้วยไม้ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในช่วงเดือน
ตุลาคม 2552 – มกราคม 2553 โดยผลิตภัณฑ์รักษาความสะอาดที่นำมาใช้ให้กับนักท่องเที่ยว
บ้านพักเจ้าหน้าที่อุทยาน และร้านอาหารที่ตั้งอยู่บริเวณลำตะคอง ได้แก่ น้ำยาล้างจาน สบู่เหลว น้ำยา
ซักผ้าและน้ำยาทำความสะอาดอเนกประสงค์ ผลการศึกษาคุณภาพน้ำเปรียบเทียบก่อนและหลังใช้มี
พารามิเตอร์ที่ศึกษาได้แก่ DO, BOD, ไนเตรท, ฟอสเฟต, และไขมัน น้ำมันและไขข้น รวมถึงดัชนีชี้วัด
ทางชีวภาพ คุณภาพน้ำหลังการใช้ผลิตภัณฑ์รักษาความสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง
ในทางที่ดีขึ้นโดยมีปริมาณ BOD ฟอสเฟต ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 95%
ผลการศึกษาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังประเภทพื้นท้องน้ำที่พบในจำนวนมากคือแมลงกลุ่มมวนจิงโจ้น้ำ
(Gerridae) และมวนจิงโจ้น้ำเล็ก (Vellidae) ซึ่งอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำที่ดีถึงคุณภาพน้ำ
ค่อนข้างสกปรก
จากการสำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวสรุปได้ว่า ผลิตภัณฑ์รักษาความสะอาดที่เป็น
มิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ควรนำมาจำหน่ายในอุทยานแห่งชาติมากที่สุดคือแชมพู น้ำยาล้างจาน และสบู่
ตามลำดับ ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวร้อยละ 98.3 ต้องการให้อุทยานแห่งชาติมีการจัดเตรียมผลิตภัณฑ์รักษา
ความสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับนักท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีความยินดีในการ
จ่ายเงินจำนวน 20 บาท เพื่อซื้อผลิตภัณฑ์รักษาความสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมใช้ในพื้นที่
อุทยานแห่งชาติ ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์รักษาความสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีความเหมาะสมในการ
นำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่อนุรักษ์อื่นของประเทศไทยเพื่อช่วยลดการปนเปื้อนของสารเคมีสู่ระบบนิเวศ |